อาการปวดบริเวณ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเท้า ที่พบบ่อย สามารถแบ่งได้ดังนี้
อาการปวดข้อศอก
อาการปวดข้อศอกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากเยื่อหุ้มข้อศอกอักเสบ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกอักเสบ หรือในบางครั้งอาการปวดข้อศอกอาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากข้อศอกโดยตรง แต่เป็นการปวดร้าวมาจากบริเวณไหล่ ต้นคอ จนทำให้ปวดมาถึงข้อศอกก็เป็นได้ โดยอาการปวดข้อศอกที่พบได้บ่อย คือ เอ็นข้อศอกอักเสบ สาเหตุเกิดจากแรงที่กระทำต่อเอ็นกล้ามเนื้อข้อศอก เช่น แรงดึง การสะบัด หรือการใช้งานซ้ำๆ มากเกินไป (overuse injury) ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกเกิดการบาดเจ็บ หรือถ้ารุนแรงมากก็อาจมีการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อขึ้นได้ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้ข้อมือและข้อศอกมาก หรือในการทำงานที่มีการใช้มือเกร็งในท่าซ้ำๆ และมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาดเช็ดถู การทาสี การตีกลอง การทำผม การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตลอดจนการเล่นกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะ กอล์ฟ และ เทนนิส แต่อาการจะแตกต่างกันที่ตำแหน่งการอักเสบ
โดยสามารถแบ่งตามตำแหน่งการอักเสบของเอ็นข้อศอกได้ 2 แบบ ดังนี้
1.Tennis Elbow หรือ เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ
ส่วนใหญ่เป็นโรคที่พบใน นักเทนนิส และผู้ที่ต้องเหยียดแขนหรือกระดกข้อมือซ้ำๆ เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอก ก่อให้เกิดอาการปวดบวมบริเวณข้อศอกด้านนอก บางรายปวดแขนท่อนล่าง หรือข้อมือร่วมด้วย โดยอาการปวดขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจปวดเล็กน้อยเฉพาะตอนขยับข้อมือและแขน หรือปวดมากอยู่ตลอดเวลา อาการปวดดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้ยากลำบาก เช่น
หยิบจับสิ่งของ จับมือทักทาย ยกของ งอแขน หรือถือถ้วยกาแฟ จะมีอาการปวดมากขึ้น เป็นต้น
2.Golfer’s elbow หรือ เอ็นข้อศอกด้านในอักเสบ
ส่วนใหญ่เป็นโรคที่พบใน นักกอล์ฟ เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้อย่างหนักโดยฉับพลันซ้ำ ทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านใน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านในใกล้ปุ่มกระดูก ซึ่งอาการปวดมากขึ้นเมื่อกระดกข้อมือขึ้นในขณะที่เหยียดข้อศอก หรือเพียงแค่ขยับข้อศอกก็มีอาการปวดได้ ในบางรายที่มีการบาดเจ็บที่รุนแรงมากแม้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ของข้อมือหรือข้อศอกก็ทำให้เกิดอาการปวดได้ หากมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังอาจจะพบว่าปวดตึงลามลงไปถึงข้อมือ
อาการปวดข้อมือ
ปวดข้อมือ คือ ภาวะที่รู้สึกปวดและไม่สบายข้อมือ อาจเกิดจากข้อมือแพลง การใช้งานข้อมือซ้ำๆ เป็นเวลานาน กระดูกหักจากอุบัติเหตุ ใช้มือค้ำตอนหกล้ม ใช้ข้อมืออย่างต่อเนื่องโดยไม่พัก เป็นต้น ซึ่งอาการปวดข้อมือจากการบาดเจ็บอาจปรากฏร่วมกับอาการบวมและช้ำ และข้อต่อติดแข็งได้ โดยอาการปวดข้อมืออาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบตามแต่สาเหตุ เช่น อาจปวดตื้อๆ คล้ายอาการปวดฟันหากเกิดจากโรคข้ออักเสบ หรือปวดเหมือนเข็มทิ่มหากเกิดจากภาวะกลุ่มอาการประสาทมือชาเพราะเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ เป็นต้น โดยอาการปวดข้อมือที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1.เอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s disease)
โรคเอ็นข้อมืออักเสบ พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานบ่อยๆ ซ้ำๆ และข้อมืออยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในท่านิ้วหัวแม่มือกางออก เช่น ซักผ้า บิดผ้า ขัดถูก เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ เช่น อุ้มเด็ก ถือของ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นและเส้นเอ็น (บริเวณข้อมือด้านหลังทางฝั่งนิ้วโป้ง) จนเอ็นหุ้มข้อมือเกิดการหนาตัวขึ้น ทำให้มีการบีบรัดหรือหดตัวของเส้นเอ็น จนเกิดเป็นอาการปวดขึ้น
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณข้อมือมากโดยเฉพาะด้านนิ้วหัวแม่มือ เมื่อกางนิ้วหัวแม่มือออกเต็มที่ จะมีอาการคล้ายมีดบาด ร้าวไปตามทิศทางของเอ็นที่มีการอักเสบ หากมีอาการรุนแรงมาก จะเกิดการบวมบริเวณปลอกหุ้มเอ็นใกล้ๆ กับข้อมือ และทำให้การหยิบจับด้วยนิ้วโป้งและมือจะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น
2.Mobile Syndrome หรือ Smartphone Syndrome
เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการก้มหน้าใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ อาการทั่วไปก็มีลักษณะเดียวกันกับโรค Office Syndrome คือมีอาการปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ แต่ในส่วนของ Mobile Syndrome มักมีการปวดเกร็งบริเวณข้อมือ นิ้วมือ และแขนร่วมด้วย เนื่องจากเกิดการอักเสบของเอ็นข้อมือจากการใช้มือถือนานๆ ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ หรืออาจมีอาการบวมร่วมด้วย และเมื่อใช้นิ้วมือทั้งสี่กำหัวนิ้วโป้งไว้ เหยียดแขน แล้วกดกำมือลง
จะรู้สึกเกร็งและปวดมากขึ้น
3.โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)
Carpal Tunnel Syndrome เกิดจากเส้นประสาทมีเดียนถูกบีบอัดหรือกดทับบริเวณข้อมือ ซึ่งอาจมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุบริเวณข้อมือ ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณข้อมือ กระดูกข้อมือหักหรือเคลื่อน การใช้งานมือและข้อมือที่ไม่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น แม่บ้าน แม่ครัว เป็นต้น เมื่อเกิดการกดทับของเส้นประทำให้เส้นประสาทกลางฝ่ามือขาดเลือดมาเลี้ยงและทำงานผิดปกติไปจากเดิม จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ ชา และเป็นเหน็บบริเวณมือ และแขน อาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณฝ่ามือกับนิ้วมือได้ โดยเฉพาะนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ อาจรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อตที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางเป็นบางครั้ง โดยไม่มีอาการดังกล่าวที่นิ้วก้อย ทำให้ไม่สามารถใช้มือได้ตามปกติในชีวิตประจำวัน เช่น ติดกระดุมไม่ได้ หรือทำสิ่งของหลุดมือ เป็นต้น
อาการปวดข้อเท้า
ปวดข้อเท้า คือ ภาวะที่รู้สึกไม่สบายหรือปวดส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเท้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการบาดเจ็บที่กระดูกข้อเท้า การบาดเจ็บที่เส้นเอ็นข้อเท้า หรือจากภาวะข้อต่ออักเสบต่างๆ และในบางครั้งหากปวดข้อเท้ามากก็อาจทำให้ทิ้งน้ำหนักลงบนข้อเท้าไม่ได้ เดินลำบาก หรือเดินไม่ได้เลย
โดยอาการปวดบริเวณข้อเท้าที่พบได้บ่อย มีดังนี้
ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain)
เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งของเท้าและข้อเท้า พบมากในหมู่นักกีฬา เดินสะดุด หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูง เมื่อเกิดข้อเท้าพลิก หรือ ข้อเท้าแพลง จะทำให้เอ็นและเนื้อเยื่อรอบข้อเท้าบาดเจ็บ หรือ เกิดการฉีกขาด อาจจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งเส้น ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นบริเวณ ข้อเท้า ทำให้ข้อเท้าไม่มั่นคง ผู้ป่วยจะมีอาการบวม และปวดบริเวณข้อเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลงน้ำหนักที่เท้าหรือได้รับแรงกด และอาจมีรอยเขียวๆ รอบข้อเท้า เนื่องจากการฉีกขาดของเส้นเลือดได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้มีอาการเจ็บต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการฉีกขาดที่รุนแรงมากขึ้นได้
เอ็นข้อเท้าอักเสบ เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Tendinitis)
เอ็นร้อยหวายอักเสบเกิดจากการทำกิจกรรมซ้ำๆ หรือใช้งานเอ็นร้อยหวายมากเกินไปจนทำให้เกิดความ ตึง เครียด ต่อเส้นเอ็น และเกิดการบาดเจ็บในที่สุด
โดยส่วนใหญ่มักพบในการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา เช่น การวิ่งที่มากเกินไป หรือวิ่งเพิ่มระยะทางและเวลาอย่างรวดเร็ว ขาดการยืดกล้ามเนื้อที่เหมาะสมก่อนออกกำลังกาย กล้ามเนื้อน่องไม่แข็งแรง และกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้อน่องมาก เช่น บาสเกตบอล กระโดดสูง เป็นต้น เมื่อเอ็นร้อยหวายเกิดการบาดเจ็บ ส่งผลให้มีการอักเสบ บวมแดง บริเวณเอ็นร้อยหวาย ส้นเท้า อาจเจ็บลามไปถึงกล้ามเนื้อน่อง โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นขณะทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งเดิน เล่นกีฬา หรือยืดข้อ หากปล่อยไว้ก็อาจทำให้เส้นเอ็นฉีกและมีอาการแย่ลงได้
รองช้ำ หรือ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis)
คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเอ็นใต้ฝ่าเท้า ซึ่งการอับเสบจะเกิดขึ้นที่เอ็นบริเวณส้นเท้าต่อเนื่องไปจนถึงเอ็นร้อยหวาย มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น การใส่รองเท้าส้นสูง การยืนหรือเดินนานเกินไป เป็นต้น ทำให้แรงที่กดลงมายังฝ่าเท้ามากเกินไป ส่งผลให้พังผืดมีความตึงตัวมากจนเกิดการบาดเจ็บและอักเสบในที่สุด โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้า อาการปวดจะมีลักษณะแปล๊บๆ เหมือนมีอะไรมาแทงบริเวณส้นเท้า อาการจะเป็นมากในตอนเช้า ขณะลุกจากเตียงเมื่อวางส้นเท้าลงกับพื้นอาจมีอาการสะดุ้ง ซึ่งอาการปวดจะค่อยๆ เบาลงเมื่อเดินไปได้ 2-3 ก้าว และสามารถกลับมาปวดมากเหมือนเดิมได้ใหม่ มักเป็นๆ หายๆ ตามลักษณะการใช้งาน เช่น การกระดกข้อเท้าขึ้นก็สามารถทำให้มีอาการปวดมากขึ้นได้ และถ้าผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนท่าเดินเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น เข่า สะโพก และหลัง ในรายที่เป็นมานาน หรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาการจะเรื้อรังมากขึ้น และมักเอกซเรย์พบหินปูนงอกบริเวณกระดูกส้นเท้าด้วย