อาการปวดคอ บ่า ไหล่ แขน ที่พบบ่อย สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. คอตกหมอน
อาการคอตกหมอนเกิดจากการอยู่ในท่าทางผิดปกติระหว่างนอนหลับ เช่น คอพับ คอเอียง คอหัก หรือหันไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่ออยู่ในท่าทางเหล่านี้นานๆ โดยไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอจึงหดเกร็ง จนกระทั่งเกิดการอักเสบอย่างเฉียบพลัน (acute muscle strain) ทำให้เกิดอาการ คอแข็ง ขยับคอไม่ได้ เวลาจะหันคอต้องใช้การบิด หรือหันทั้งลำตัวแทน
นอกจากอาการปวดตึงบริเวณหลังคอแล้ว ในบางท่านอาจคลำพบการแข็งของกล้ามเนื้อขึ้นเป็นลำ (muscle spasm) แบบชัดเจน หากอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา จะสามารถทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบเกิดอาการบาดเจ็บตามเป็นวงกว้าง เนื่องจากร่างกายต้องพยายามใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นมาทำงานแทนกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บอยู่ เพื่อให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่อไปได้ กล้ามเนื้อที่ถูกนำมาใช้งานแทนจึงเกิดการบาดเจ็บขึ้นเนื่องจากต้องทำงานมากกว่าปกติและต้องทำในหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะของกล้ามเนื้อนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยมีอาการปวดเฉพาะบริเวณบ่ามาก่อน แต่ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา นานวันเข้า อาจจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณสะบักเพิ่มตามมา เป็นต้น
2. ออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) มักเกิดในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือการใช้อิริยาบถในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งผิดท่า โต๊ะทำงานสูงไปหรือเตี้ยไป เป็นต้น จึงมีการใช้กล้ามเนื้อบางมัดอย่างไม่ถูกต้องตามสรีระ การนั่งทำงานนานเกินไปโดยไม่ขยับหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดรัดและไม่คลายตัว จนเกิดการแข็งเกร็งของมัดกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวด คอ บ่า ไหล่ สะบัก ในบางคนอาจมีอาการปวดไมเกรนร่วมด้วย อาการออฟฟิศซินโดรมนี้หากไม่รักษาและปล่อยไว้ อาการปวดอาจจะขยายเป็นวงกว้างกว่าเดิม เช่น ปวดลามขึ้นบริเวณ หู กราม ขากรรไกร กระบอกตา ศรีษะ หรือลามลงแขน หน้าอก ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สุด หายใจลำบาก โดยไม่ทราบสาเหตุ
ในเคสที่เป็นออฟิศซินโดรมเรื้อรังนานๆ อาการปวดสามารถพัฒนาไปเป็น ภาวะกระดูกคอทับเส้นประสาทได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอนั้น มีการเกร็งตัวขั้นรุนแรงจนไปดึงรั้งให้กระดูกคอบริเวณนั้นๆ เคลื่อนผิดรูป และไปทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวลงแขน ปวดชาลงแขน แขนอ่อนแรง ในที่สุด
3. ไมเกรน
อาการปวดไมเกรน คือการปวดศีรษะข้างเดียว ข้างใดข้างหนึ่ง มักเป็นทีละข้าง และสามารถสลับข้างปวดได้ การปวดไมเกรนจะเป็นลักษณะปวดตุ้บๆ เป็นจังหวะ และมักมีอาการปวดบริเวณขมับ หน้าผาก กระบอกตา และหัวคิ้วร่วมด้วย โดยมากจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายโดนกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น ความร้อน กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ แสง (จ้าไป หรือมืดไป) ฝุ่นละออง ความเครียด หรือ การใช้สายตาหนักๆ เป็นต้น
อาการไมเกรนนั้น มักพบคู่กับ อาการออฟฟิศซินโดรม ซึ่งก็คือ อาการปวดคอ บ่า ที่เกิดจากการทำงานในท่าเดิมนานๆ จนกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวเกิดการเครียด หดเกร็ง แข็ง ไม่ยืดหยุ่น ในตำราโบราณนั้น อาการไมเกรน เกิดจากเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานแนว ท้ายกะโหลก ขมับ กระบอกตา ถูกบีบรัดจากกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดมากๆ บริเวณฐานกะโหลก จนเส้นประสาทชุดนั้นไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ส่งผลให้เกิดอาการปวดตามแนวที่เส้นประสาทดังกล่าว
4. ปวดสะบัก สะบักจม
อาการสะบักจม เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือมีการปวดกล้ามเนื้อบ่า และ ต้นคอ เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อมัดที่สัมพันธ์กัน สาเหตุของสะบักจมมักมาจาก การใช้งานกล้ามเนื้อสะบักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ การยกของหนัก การยกเวท หรือการออกกำลังกายผิดจังหวะ เป็นต้น หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษา กล้ามเนื้อที่เกิดการอักเสบ จะหดเกร็งตัวจนไปบีบเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของแขน ให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงแขน ชาลงแขน แขนอ่อนแรง ชายิบๆ นิ้วชา เป็นต้น
5. ไหล่ติด
อาการไหล่ติด เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มไหล่ (Capsule) ซึ่งการอักเสบนั้นโดยมากจะเกิดจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น การตีกอล์ฟ การยกเวท เป็นต้น หรือ เกิดจากอาการออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง นอกจากนี้อาการไหล่ติดยังสามารถเกิดจากอุบัติเหตุ การโดนกระแทก บริเวณหัวไหล่และสะบักได้อีกด้วย
การอักเสบจากสาเหตุดังกล่าว ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัว เกร็ง และทำให้เกิดพังผืดเข้ายึดเกาะ ทำให้เอ็นและเนื้อเยื่อบริเวณนั้นยืดหยุ่นได้น้อยลง และ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ถูกจำกัด เคลื่อนไหวลำบาก เช่น ไม่สามารถยกแขนได้สุด ไขว้หลังไม่ได้ สวมใส่เสื้อผ้าลำบาก เพราะจะรู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณหัวไหล่และต้นแขน
6. หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท และ กระดูกคอเสื่อม
อาการที่เกิดจากกระดูกคอนั้น ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท กระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกคอทรุด โดยมากจะเป็นอาการที่คล้ายคลึงกัน ก็คือ มีการปวดคอร้าวลงแขน ชาลงแขน แขนอ่อนแรง ปวดตึงบ่า ปวดสะบัก ปวดหัว ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการ เวียนหัว มึนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน แขนลีบ ขาอ่อนแรง เดินไม่ปกติ มีอาการไฟช็อตลงแขนหรือขา ชายิบๆ หรือแสบร้อนตามแขน เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีปัญหาที่กระดูกคอ จะนอนลำบาก ต้องเปลี่ยนหมอนบ่อย รู้สึกเหมือนนอนผิดท่าตลอดเวลา และจะปวดหัว ปวดคอ ตอนตื่นนอน
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหากระดูกคอนั้น เกิดจาก
1.อุบัติเหตุบริเวณข้อต่อกระดูกคอ เช่น การกระแทกอย่างรุนแรง การเหวี่ยงสะบัดของต้นคอ จากการโดนชนท้าย เป็นต้น
2.การแบกของหนักๆ ขึ้นบนบ่า การสะพายกระเป๋าหนักๆ กดทับบนบ่าบ่อยๆ
3.การทำงานในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น อยู่ในท่าก้มหรือแหงนมากเกินไป
4.การทำงานในท่าเดิมที่มีการเกร็งต้นคอนานๆ เช่น การนั่งหน้าคอมนานๆ การขับรถ เป็นต้น การยกของโดยใช้ท่าที่ต้องเกร็งต้นคอ เช่น การยกลัง ยกเข่ง
5.การออกกำลังกายที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณต้นคอ เช่น การยกเวทหนักๆ
สาเหตุที่กล่าวข้างต้น สามารถนำไปสู่ภาวะหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท กระดูกคอเสื่อม หรือ หมอนรองกระดูกคอทรุด ได้ ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ และระยะเวลาที่เป็นมา โดยอาการเริ่มแรกนั้นจะเป็นเพียงการปวดเมื่อยต้นคอ หรือเมื่อยบ่า ธรรมดาๆ แต่เมื่อปล่อยไว้ อาการปวดเมื่อยจะเริ่มกลายเป็นอาการปวดหนักขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวจนยึดรั้ง และในที่สุดก็ดึงให้หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือทรุดทับเส้นประสาท
ส่วนอาการกระดูกคอเสื่อมนั้น เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อคอเช่นกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ไม่ได้มีการดึงรั้งให้กระดูกเคลื่อนที่ออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กล้ามเนื้อที่เกร็งตัวมากๆ นั้นจะมีพังผืดเกิดขึ้น และหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ จนไปเกาะกระดูกต้นคอที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้กระดูกข้อนั้นๆ เกิดอาการแข็ง ยึดล็อค ไม่ยืดหยุ่น ขยับลำบาก และเบียดเส้นประสาทที่อยู่บริเวณนั้น จึงทำให้เกิดอาการ ปวดร้าว หรือชา ไปตามแนวเส้นประสาทนั้นๆ